วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชื่นชมไต้หวัน สร้างแบบอย่างสากลจัดการปัญหาสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน

ปธน.หม่า อิงจิ่ว (ขวา) ให้การต้อนรับ
นายเฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก (ซ้าย)
ที่ทำเนียบประธานาธิบดี
เพื่อเฉลิมฉลองสาธารณรัฐจีน สถาปนาครบรอบ 100 ปี คณะกรรมการวัฒนธรรม สภาบริหารไต้หวัน เชิญเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 2 ท่านเดินทางมาไต้หวัน ร่วมกิจกรรมในงาน「อธิษฐานพรเพื่อสันติภาพ」ซึ่งจะจัดขึ้นที่เขตจินเหมินในวันที่ 23 ส.ค. ศกนี้

วันที่ 21 ส.ค. คณะกรรมการวัฒนธรรม จัดแถลงข่าว 「ต้อนรับผู้สร้างสรรค์สันติภาพสากลเดินทางถึงไต้หวัน」ประกอบด้วย รองประธานาธิบดีเซียวว่านฉาง(蕭萬長) เซิ่งจื้อเหริน(盛治仁) ประธานคณะกรรมการวัฒนธรรม และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสองท่านคือ เฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก(Frederik Willem de Klerk) อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และ ซอง โกศัล( Ms.Song Kosal) ยุวฑูตแห่งองค์กรรณรงค์เพื่อยุติทุ่นระเบิดนานาชาติ( ICBL) รับเชิญร่วมการแถลงข่าว เพื่อแบ่งปันทัศนคติด้านสันติภาพ
รองประธานาธิบดีเซียวว่านฉาง กล่าวต้อนรับการมาเยือนไต้หวันของเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพทั้งสองท่านระบุว่า รัฐบาลสาธารณรัฐ
จีนพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาสันติภาพและเกียรติยศพร้อมกัน ขณะนี้รัฐบาลชูนโยบาย 「ไม่รวม ไม่แยก ไม่รบ」 คือนโยบายยืนหยัดในสันติภาพ เสาะหาทางสายกลางที่ดีที่สุด เซียวว่านฉางย้ำว่า ด้านหนึ่งรัฐบาลร่วมลงนามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน(ECFA) กับจีนแผ่นดินใหญ่ อีกด้านหนึ่งพยายามรักษาเกียรติยศ ด้วยการเจรจาสิทธิยกเว้นการตรวจลงตราในเวทีนานาชาติ ซึ่งมีความก้าวหน้าทั้งด้านเกียรติยศและสันติภาพควบคู่กัน

เฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก กล่าวถึงประสบการณ์ในการผลักดันความประนีประนอมทางเชื้อชาติของแอฟริกาใต้ในอดีต ระบุว่า เมื่อเกิดความขัดแย้ง หากทั้งสองฝ่ายล้วนคิดว่าตนจะเป็นผู้ชนะ สันติภาพก็จะไม่ปรากฏ ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายรับรู้ว่า ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศล่มสลาย จึงจะสามารถหารือสร้างสรรค์สันติภาพอย่างราบรื่นได้ พร้อมแสดงความชื่นชมต่อ การจัดการปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันของสาธารณรัฐจีน ซึ่งได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดีในเวทีสากล เดอ เคลิร์ก ระบุว่า การสร้างแบบอย่างที่ดีมีความสำคัญมา เพราะสามารถใช้เป็นแนวทางศึกษาจัดการแก่ประเทศที่แฝงเร้นด้วยปัญหาสันติภาพทั่วโลก

ส่วน ซอง โกศัล ผู้ที่ต้องสูญเสียขาข้างขวาจากการเหยียบทุ่นระเบิดขณะมีอายุ 6 ปีเห็นว่า ไต้หวันควรให้การสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเวทีสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสาธารณรัฐจีนเข้าร่วมขบวนการรณรงค์เพื่อยุติทุ่นระเบิด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากทุ่นระเบิดได้มากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา : Rti
วันที่ : 22 ส.ค. 2554
Photo : CNA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น