วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นักธุรกิจชั้นนำไต้หวันเชื่อไทยมีพื้นฐานดี และมีความเป็นมิตร เหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน

สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ไต้หวัน ครั้งที่ 21 ขึ้น ที่โรงแรมรีเจ้นท์ไทเป เมื่อวานนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายไต้หวันอย่างคับคั่งกว่า 80 ท่าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย โดยมีนายเฉิน เฟยหลง หรือนายอัลเฟรด เฉิน ประธานคณะกรรมการไทย สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไต้หวัน (CIECA) กับนายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นประธานการประชุม และได้รับเกียรติจากนายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย และนายเหลียง กั๋วซิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ร่วมกล่าวเปิดการประชุม


จากซ้ายไปขวา
นายอัลเฟรด เฉิน ประธานกลุ่มทุนนำเชา ดร.เจน วงศ์พิรุฬห์ ประธานคณะกรรมการความร่วมมือไทย-ไต้หวัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย Mr.Richard Tang,COO CQI Energy Infocom Inc. ไต้หวัน นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโฆษกวิทยุหนุ่มรูปหล่อครับ(555)



นายสรยุทธ์ ฯ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย ได้กล่าวให้ความมั่นใจแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่คาดคิดในไทยจะจบลงด้วยดีในระยะเวลาอันสั้น และทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติสุข

นายเฉิน เฟยหลง ประธานคณะกรรมการไทย สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไต้หวัน และเป็นเจ้าของกลุ่มทุนนำเชา ที่มีการลงทุนในประเทศไทยหลายสิบปี เจ้าของบะหมี่สำเร็จรูปหมี่จังในประเทศไทย ได้กล่าวถึงการประชุมในคราวนี้ว่า “ผมเข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นไปแบบไร้รสชาติ เหมือนกับการประชุมเป็นพิธี แต่ในคราวนี้ รู้สึกว่า ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อาจจะเนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นยุคเศรษฐกิจภูมิภาค และการที่ไต้หวันกำลังจะจัดทำความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่หรือ ECFA ทำให้เป็นโอกาสหนึ่งที่นักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายมีโอกาสที่จะจับมือกันบุกตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ อาศัยข้อดีของกันและกัน”

ทั้งนี้ เขา ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่าจะส่งผลกระทบต่อความประสงค์ไปลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ว่า “ไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็งทั้งด้านสาธารณูปโภคต่างๆ และคนไทยมีความเป็นมิตรมาก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะพิจารณา นักลงทุนไต้หวันส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทเอง จึงมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดีกว่าแตกต่างจากบริษัทใหญ่ในสหรัฐฯหรือยุโรปที่มักจะตัดสินใจโดยผู้บริหารมืออาชีพมากกว่า” นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงกรณีที่มีคำถามว่า สถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงยังทรงวางเฉย ไม่แสดงท่าทีใด ๆ นั้น นายเฉินฯให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมั่นใจต่อสติปัญญาของคนไทยที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง แม้จะไม่มีพระองค์ฯเป็นคนกลางก็ตาม

การประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไต้หวัน-ไทย ครั้งที่ 21 คณะจากไทยประกอบไปด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพื่อดึงดูดนักลงทุนไต้หวันไปลงทุนในประเทศไทย ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรกล รถยนต์ การท่องเที่ยว สิ่งทอ และอุตสาหกรรมยาง

แม้ปีที่แล้วไทยกับไต้หวันมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพียง 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้านี้ 20% อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่แล้วเป็นต้นมา ตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างกันเริ่มกระเตื้องขึ้นและเติบโตขึ้นเป็นลำดับ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วถึง 64% ส่วนการลงทุนของนักลงทุนไต้หวันในไทยเท่ากับ 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เท่านั้น ชี้ชัดว่า ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น