วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิดอีก คณะกรรมการพลังงานปรมาณูระบุ ยังไม่มีความกังวลสารกัมมันตรังสีพัดสู่ไต้หวัน

เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการพลังงานปรมาณู
ขณะกำลังชี้แจงการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ปรมาณู
ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ 9.0 ริกเตอร์ ทำให้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูหมายเลข 1 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาโรงที่ 1 ในเขตประสบภัยแผ่นดินไหวเกิดระเบิดและมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี และในเช้าวันที่ 14 มี.ค. เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งเดียวกันก็เกิดระเบิดขึ้นอีก สร้างความกังวลใจต่อผลกระทบที่อาจอาจเกิดขึ้นแก่ไต้หวัน

หวงชิ่งตง(黃慶東) รองประธานคณะกรรมการพลังงานปรมาณู สภาบริหารไต้หวัน ตอบกระทู้ที่สภานิติบัญญัติระบุว่า สาเหตุของปัญหาเตาปฏิกรณ์ทั้งสองตัวมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมการ
ทำงานต้องทำการปลดปล่อยแรงดันตามความจำเป็น เพื่อปกป้องความปลอดภัยของชั้นผนังตัวเตาปฏิกรณ์ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อไต้หวันแต่อย่างใด

หวงชิ่งตงกล่าวว่า “สภาพการณ์ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และหมายเลข 1 มีความคล้ายคลึงกัน คือทำให้เกิดการระเบิดของไฮโดรเจน ในมุมของสารกัมมันตรังสี ไม่น่าจะมีการปลดปล่อยออกมามากนัก อย่างมากก็เป็นผลกระทบในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น แม้ว่าเกาหลีใต้หรือทางเราจะสงสัยว่าอาจส่งผลกระทบ แต่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ทำการประเมินแล้ว สรุปว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะพื้นที่เมื่อ 2 วันก่อน ดังนั้นแม้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 จะมีการระเบิดของไฮโดรเจน แต่มีสภาพเดียวกับเตาหมายเลข 1ในมุมของสารกัมมันตรังสี ไม่น่ามีความกังวลว่าจะพัดมาสู่ไต้หวัน”

หวงชิ่งตงระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไต้หวันที่ผ่านมาไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์หยุดทำงานเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แต่ขณะนี้ได้มีการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และจะมีการสำรวจแผ่นรอยต่อชั้นหินใต้ทะเลใหม่ด้วย พร้อมย้ำว่า รัฐบาลได้พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านนี้ตลอดเวลา
หวงจิ่งจง ผอ.ศูนย์ตรวจวัดกัมมันตรังสีเผย
ยังไม่พบความผิดปกติของ
ค่าระดับกัมมันตรังสีที่ตรวจวัดได้
นอกจากนี้ ต่อปัญหาสารกัมมันตรังสีรั่วไหล หลังเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น วันที่ 14 มี.ค. นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ขณะนี้ทิศทางลมของญี่ปุ่นคือพัดไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ หากมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ก็จะพัดไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก จะไม่พัดมาทางไต้หวัน ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก

เพื่อรองรับสถานการณ์รั่วไหลของสารกัมมันตรังสี หลังกองทัพไต้หวันทำการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาความมั่นคงแห่งชาติในวันที่ 13 มี.ค. ได้มีการสั่งการให้ทหารหน่วยป้องกันสงครามนิวเคลียร์ชีวเคมี ในสองค่ายรวมเกือบ 2,000 นาย ปฏิบัติการสนับสนุนคณะกรรมการพลังงานปรมาณู เมื่อมวลเมฆของสารกัมมันตรังสีเคลื่อนตัวเข้าใกล้ รถทหารพร้อมอุปกรณ์ตรวจวัดจะปรจำการด่านหน้าและส่งสัญญาณเตือนภัย หากปริมาณสารกัมมันตรังสีเกินมาตรฐาน หน่วยปฏิบัติการป้องกันสงครามนิวเคลียร์ชีวเคมีจะเริ่มมาตรการขจัดมลพิษทันที

แหล่งที่มา : Rti
วันที่ : 14 มี.ค. 2554
Photo : CNA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น