การสรรหาบุคคลผู้เหมาะสมลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน สาธารณรัฐจีนของพรรคดีพีพี พรรคฝ่ายค้านไต้หวันได้จัดให้ผู้สมัครทั้ง 3 ราย แถลงนโยบายและโต้วาทีไปแล้ว 3 รอบ แต่ทั้ง 3 รอบที่ผ่านมา แม้นายสวี ซิ่นเหลียง หนึ่งในผู้สมัครจะยิงคำถามเกี่ยวกับนโยบายช่องแคบไต้หวันหลายครั้งหลายหน แต่ทั้งนางสาวไช่ อิงเหวิน และนายซู เจินชาง ผู้สมัครอีก 2 คนของพรรคดีพีพี ก็ยังคงพยายามหลบหลีกการตอบคำถามนี้ตรงๆ ประสงค์ที่จะใช้ยุทธวิธีเช่นเดียวกับการเลือกตั้ง 5 ผู้ว่าการนครเมื่อปีที่แล้ว ที่ไม่กล่าวถึงนโยบายช่องแคบไต้หวัน แต่เน้นย้ำไปที่ “ความสามารถในการปกครองประเทศ” เป็นประเด็นหลักของตน แม้การเลือกตั้ง 5 ผู้ว่าการนครที่ผ่านมา พรรคดีพีพีจะสามารถหลบเลี่ยงประเด็นช่องแคบไต้หวันได้ก็ตาม ซึ่งในที่สุดก็ยังประสบชัยชนะใน 2 ที่นั่งทางภาคใต้ ในขณะที่ ประเด็นช่องแคบไต้หวันจะเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันระหว่างพรรคสีเขียวกับพรรคสีน้ำเงิน หากผู้สมัครของพรรคดีพีพีไม่เสนอแนวนโยบายช่องแคบไต้หวันให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนแล้ว คงยากที่จะไปคิดถึงชัยชนะในการเลือกตั้งได้
การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวันของรัฐบาลประธานาธิบดีหม่าฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ก้าวสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการลงนามในความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบไต้หวันหรือ ECFA แล้ว ก็เป็นการ “สร้างผลดีสันติภาพ”ให้แก่ช่องแคบไต้หวัน และยิ่งทำให้ก้าวสู่การที่ประชาชนได้รับผลดีนี้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งนางสาวไช่ อิงเหวิน และนายซู เจินชาง สองตัวเก็งแคนดิเดทของพรรคดีพีพี ต่างไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา กระทั่งทำให้มีความรู้สึกว่าทั้งสองไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโต้วาทีรอบที่ 3 เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วได้กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน ได้แต่เน้นย้ำอุปสงค์ภายใน หรือไม่ก็เน้นย้ำแต่นโยบายสวัสดิการสังคม แต่ตลาดไต้หวันเล็กมากขนาดนี้ จะสามารถแบกรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่อาศัยเฉพาะอุปสงค์ภายในเพียงอย่างเดียวได้อย่างไร และหากรัฐบาลไม่มีนโยบายการคลังและการจัดเก็บภาษีที่ดีพอ จะเพิ่มสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนได้อย่างไร ซึ่งทั้งสองมิได้ตอบคำถามนี้
(คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น