จากการประกาศล่าสุดของทบวงสาธารณสุขไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายของคนไต้หวันอันดับที่ 11 แต่จากข้อมูลทางสถิติของกองสาธารณสุขกรุงไทเป พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2010 มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 5.6% จากปี 2009
ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย กรุงไทเปวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โดยพบว่าผู้สูงอายุ 25% มีความคิดต้องการฆ่าตัวตายเนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยเป็นเวลานาน จนส่งผลต่อภาวะจิตใจและร่างกาย ขณะที่ 23% มีสาเหตุจากภาวะซึมเศร้าทำให้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง และอีก 18% มีสาเหตุจากความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี
ในภาพรวมแล้วพบว่า ผู้สูงอายุที่มีความคิดต้องการฆ่าตัวตายเกือบ 30% มักจะมีสาเหตุมาจากสองประการขึ้นไป สะท้อนให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุนับเป็นปัญหาหลายด้าน เมื่อผู้สูงอายุมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือเผชิญกับความเครียดและแรงกดดันในชีวิตประจำวัน เช่นคนในครอบครัวมีการทะเลาะเบาะแว้ง มักจะส่งผลต่อภาวะจิตใจได้ง่าย ซึ่งหากความทุกข์ใจและไม่สบายใจเหล่านี้ถูกสะสมต่อเนื่องและไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลให้เกิดการทำร้ายตัวเองหรือจบชีวิตตัวเอง
ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย กรุงไทเป เตือนประชาชนที่มีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว ให้พยายามใช้เวลาอยู่กับผู้สูงอายุเหล่านี้ให้มาก เพื่อช่วยเหลือให้พวกเขาผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภาวะจิตใจและร่างกายจะส่งผลซึ่งกันและกัน โดยหากพบว่าผู้สูงอายุมีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากปกติ ให้พาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ เป็นการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเกิดผลเสียหายที่รุนแรงในภายหลัง
แหล่งที่มา : Rti
วันที่ : 21 มิ.ย. 2554