กระทรวงคมนาคมแถลงในวันที่ 19 กค. ศกนี้ว่า ภายหลังผ่านการตรวจสอบพบว่าทั่วไต้หวันมีสะพาน 58 แห่ง และถนน 33 ช่วง ที่อันตรายและเสี่ยงต่อการพังทะลายลงมา ซึ่งขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังและกำลังเร่งดำเนินการลดความเสี่ยงที่จะเกิดการพังทลายลงมาด้วยการจำกัดปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน
นายเหมาจื่อกว๋อ รมว.คมนาคม ไต้หวันกล่าวว่า ในอนาคตการป้องกันภัยพายุไต้ฝุ่น จะนำ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) มาใช้ หากมีการพยากรณ์ว่าพื่นที่อันตรายใดๆมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางภูมิศาสตร์ก็จะมีการเร่งอพยพประชาชนในพื้นที่นั้นออกมา ซึ่งนอกจากจะสามารถป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้แล้วยังทำให้สามารถวางแผนการกู้ภัยของหน่วยกู้ภัยและกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รมว.คมนาคมกล่าวถึงการเตรียมป้องกันภัยพายุไต้ฝุ่นในปีนี้ว่า เริ่มยกระดับการป้องกันภัยตั้งแต่ปรากฏเมฆก้อนแรก จากนั้นยึดตามปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ ทั้งปริมาณน้ำที่วัดได้ในแต่ละชั่วโมงงและปริมาณสะสม มาใช้ประเมินระดับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หากถึงระดับอันตรายก็จะเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวังอันตรายและหากพบว่าปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ยังคงเพิ่มขึ้น จะมีการส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยและกำลังทหารรวมถึงอุปกรณ์กู้ภัยต่างๆเข้าไปประจำการในพื้นที่อันตรายทันที
ทั้งนี้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) คือ กระบวนการทำงานเกี่ยวกับ ข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial data) ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยการกำหนดข้อมูลเชิงบรรยาย (attribute data) และสารสนเทศ เช่น ตำแหน่งที่อยู่ เลขที่อาคาร รูปแบบแปลงที่ดิน ที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ตำแหน่ง เส้นรุ้ง เส้นแวง ในรูปของ ตารางข้อมูล และ ฐานข้อมูล
ระบบ GIS ประกอบด้วยชุดของเครื่องมือที่มีความสามารถในการเก็บรวบรวม รักษาและการเรียกค้นข้อมูล เพื่อจัดเตรียม ปรับแต่ง วิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) เพื่อให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลาย จะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย GIS ให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ การแพร่ขยายของโรคระบาด การบุกรุกทำลายป่า หรือแหล่งน้ำ หรือพื้นที่ภูเขา การใช้ประโยชน์ที่ดิน และโครงข่ายคมนาคมขนส่งของเมือง
ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อปรากฏบนแผนที่ทำให้สามารถแปล สื่อความหมาย และนำไปใช้งานได้ง่าย ข้อมูลใน GIS ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย สามารถอ้างอิงถึงตำแหน่งที่มีอยู่จริงบนพื้นโลกได้โดยอาศัยระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์ (geocode) ซึ่งจะสามารถอ้างอิงได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ข้อมูลใน GISที่อ้างอิงกับพื้นผิวโลกโดยตรง หมายถึง ข้อมูลที่มีค่าพิกัดหรือมีตำแหน่งจริงบนพื้นโลกหรือในแผนที่ เช่น ตำแหน่งอาคาร ถนน ฯลฯ